วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

ประเพณีงานศพไทแสก

2.8  ประเพณีงานศพไทแสก

                จากกิจกรรมสนทนากลุ่ม  พบว่า  การตายของชายไทแสก  แบ่งออกเป็น  2  กรณี  คือ

                1. ป่วยตายจะนำศพไปไว้ที่บนบ้าน

                2. อุบัติเหตุตายจะไม่นำศพไปไว้บนบ้าน  เพราะชายไทแสกมีความเชื่อว่าผีจะเกรงจากการสัมภาษณ์ในงานศพชาวไทแสกบ้านอาจ สามารถ จะไม่บอกให้ชาวบ้านทราบ  นอกจากจะรู้เองแล้วมาช่วยงาน  งานที่ร่วมกันปฏิบัติในเบื้องต้นของงานศพก็คือ กลุ่มญาติใกล้ชิดจะแต่งตัวให้ศพ  เอาเงินใส่ปากเพราะเชื่อว่าเป็นการจ้างไม่ให้พูดหรือบ้างก็เชื่อว่าเป็นการ นำทรัพย์สินไปใช้ ในภายภาคหน้า  บางกลุ่มจะทำความสะอาดบ้านและบริเวณบ้าน บางกลุ่มจะเตรียมน้ำใช้  บางกลุ่มก็นำไม้มาทำบ้าน  ทำหอ  ทำโลงศพและบางกลุ่มจะเตรียมอาหาร  เพื่อให้แขกที่มาช่วยในงานรับประทาน  ทุกคนที่มาช่วยงานต่างมีความตั้งใจในการช่วยงาน   แล้วจัดสำรับกับข้าวไว้ใกล้โลงศพ  เพื่อให้คนตายได้กินด้วย  ส่วนอาหารที่ทำในงานศพไม่ให้ทำขนมจีน  แกงวุ้นเส้นหรืออะไรที่เป็นเส้นยาว ๆ เพราะมีความเชื่อว่ามิให้มีความสัมพันธ์กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่  และเชื่อว่าการตายจะเกิดขึ้นอีกไม่มีที่สิ้นสุด  เมื่องานทุกอย่างใกล้เสร็จเจ้าภาพจะนิมนต์ระสงฆ์มาสวดมนต์ที่บ้าน  เพื่อให้เป็นกุศลแก่ผู้ตาย  ในงานศพบ้านอาจสามารถส่วนใหญ่จะเอาศพไว้  1  วัน  หรือ  2  วัน  ทั้งนี้แล้วแต่เจ้าภาพ

                เมื่อเก็บศพไว้ตามสมควรแล้วนำศพไปป่าช้าเพื่อทำพิธีเผา  เชื่อกันว่าไม่ให้เผาศพวันอังคาร และวันพระ  พิธีกรรมเมื่อศพอยู่บนเมรุเรียบร้อยแล้ว  ก็จะเปิดศพทำพิธีโดยการล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว  คนที่ไปล้างหน้าผู้ตายส่วนใหญ่จะเป็นญาติผู้ใกล้ชิดหรือเพื่อนที่รู้จักกับ ผู้ตาย  เมื่อล้างหน้าศพเรียบร้อยแล้วก็จะปิดโลงศพ  และทำพิธีถวายทาน  ชักผ้าบังสุกุล  ถวายผ้าบังสุกุลพระผู้รับและผู้ถวายจะลำดับความอาวุโสจากผู้ใหญ่จนถึง ผู้น้อย  เสร็จแล้วก็จะถวายปัจจัยรวมของผู้บวชหน้าศพทั้งสามเณรและชีพราหมณ์  (บทสรุปจากกิจกรรมสนทนากลุ่ม : 29 มิถุนายน  2548)

                ในงานพิธีเผาศพจะมีการละเล่นอย่างหนึ่ง  คือ  ขึ้นบั้ง  เป็นการละเล่นเกมส์สนุก ๆ ในหมู่ผู้อาวุโส  หรือแม้คนหนุ่มก็แสดงได้เช่นเดียวกัน  (หมายถึงผู้ที่ได้ร่ำเรียนวิชาอาคมมาแล้วเท่านั้น) การเล่นขึ้นบั้ง  จะใช้ผู้เล่น  3  คน  หรืออาจจะมากกว่านี้ก็ได้  หากมีคนที่สงสัยจะขอเล่นร่วมวงด้วยในภายหลัง  เขาก็ไม่ขัดข้องเรียกว่าเป็นการร่วมออกกำลังกายทางหนึ่งก็ยังได้

                อุปกรณ์การเล่นก็จะหาจากงานศพนั่นเอง  แรกเริ่มทีเดียวจะต้องหาไม้ไผ่สดที่ปล้องยาวและใหญ่ไล่เลี่ยกับโคนขายาว  2  ปล้อง  ตัดให้เรียบแล้วทะลวงให้กลวงเพียงด้านเดียว  เมื่อได้ไม้ไผ่แล้ว    ผู้เล่นจะหยิบเอาถ่านจากที่เผาศพมาอีกจำนวน 7 ก้อน  (ถ่านที่ดับแล้ว)  จากนั้นให้ คนสองคนจับปล้องไม้ไผ่ไว้คนละด้าน  โดยหันทางที่กลวงขึ้นบนในแนวดิ่ง  90  องศา

                ส่วนผู้เล่นอีกคนหนึ่งจะยืนอยู่ใกล้ ๆ และเริ่มบริกรรมคาถา  เป็นภาษาแสกเสียงพึมพำ  โดยส่วนมากจะเป็นผู้อยู่ในวัยอาวุโส  ส่วนสองคนที่จับปล้องไม้ไผ่จะใช้คนหนุ่ม ๆ ก็ได้   พอบริกรรมคาถาได้สักครู่เขาจะหยิบเอาถ่านไฟที่หยิบออกมาจากเตาเผาศพ  หยิบลงไปในปล้องไม้ไผ่ด้านบนที่ทะลวงให้กลวงทีละก้อน  ถ่านไฟนั้นค้างอยู่ในปล้องไม้ไผ่นั้นเอง  ซึ่งในขณะที่แสดงปล้องไม้ไผ่ที่สองคนจับอยู่  ด้านล่างจะอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ  2  ฟุต  ทันใสปล้องไม้ไผ่ปล้องนั้นจะมีพลังเหมือนมีอะไรเข้าไปอยู่ข้างใน  และพยายามจะพุ่งขึ้นมาด้านบน  คนสองคนที่จับไว้จะต้องคอยดึงเอาไว้ให้อยู่ คือ พยายามกดลงดิน  ต่อให้ออกแรงจนสุดแรงเกิดก็กดเอาไว้ไม่อยู่  บางรายจนเท้าลอยขึ้นไปพ้นดินสูงขึ้นเป็นคืบเป็นศอกไปทีเดียว  เมื่อสองคนกดพยายามกดปล้องไม้ไผ่ใกล้ถึงดินแต่จากการบริกรรมคาถาของผู้แสดง รายแรก  แล้วหยอดถ่านไฟลงไปในปล้องไม้ไผ่อีกปล้อง  ไม้ไผ่ก็ลอยขึ้นอีก  คนเล่นข้างเคียงที่มองดูแล้วไม่เชื่อจะเข้าร่วมวงเล่นด้วยก็ได้  ถึงจะกดอย่างไรปล้องไม้ไผ่ก็จะพุ่งขึ้นท่าเดียว  บางคนสู้แรงปล้องไม้ไผ่ไม่ไหวก็ขอเลิกล่น  การละเล่นนี้ผู้เล่นจะเหนื่อยมากในที่สุดก็จะขอเลิกเอาดื้อ ๆ เพราะเหนื่อย  คนที่ไม่เหนื่อย  คือ  คนที่บริกรรมคาถานั่นเอง

                มีอยู่บางครั้งผู้บริกรรมคาถาว่าอยู่นาน  แต่ปล้องไม้ไผ่ไม่ขยับเขยื้อนอย่างนี้ต้องเปลี่ยนคนว่าคาถาใหม่  ส่วนคนภายนอกผู้เห็นเหตุการณ์ที่ขอเข้าไปเล่นด้วย  เพื่ออยากพิสูจน์ยิ่งเข้าไปกดกระบอกไม้ไผ่สองปล้อง  ยิ่งมีแรงต้านหนักขึ้นจนต้องยอมดังกล่าว  มีบางรายเอามือไปปิดด้านบนกระบอกไม้ไผ่  ปรากฏว่ากระบอกไม้ไผ่จะหยุดดิ้นและตกลงพื้นดินทันที  เมื่อเล่นบั้นขึ้นจบก็เรียนเชิญแขกทุกท่านได้วางธูปเทียนซึ่งเจ้าภาพได้แจก ไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว  เมื่อดูว่าทุกคนวางธูปเทียนเสร็จแล้ว  เจ้าภาพก็จุดไฟ  แล้วนิมนต์พระรูปที่อาวุโสที่สุด  จุไฟเผาศพให้ก่อน  หลังจากนั้นคนใกล้ชิดก็จะนำไฟที่เตรียมไว้แล้วเริ่มเผา  ไฟก็จะลุกไหม้อย่างรวดเร็วเพราะมีน้ำมันราดด้วย  ตอนนี้เจ้าภาพก็จะให้ทานทำบุญเป็นครั้งสุดท้ายในพิธีเผาศพ  ก็คือ  หว่านขนม  เงินเหรียญหน้าไฟ  แขกที่ไปในงานทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็แย่งกันเก็บขนม  เก็บเงินเหรียญ  ตอนนี้ดูเหมือนจะสนุกพอสมควร  หลังจากการแย่งกันไประยะหนึ่งสิ่งของเหล่านั้นหมด  ทุกคนก็มาเริ่มหยุดสงบอีกครั้ง  เพื่อให้พระสงฆ์กลับ  ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็กลับ  จะมีบางกลุ่มที่รอดูการเผาไหม้หน้าศพ  จึงถือว่าเสร็จการเผาศพ  หลังจากนั้น  3  วัน  ก็ทำบุญแจกข้าว  ทำปราสาทโดยใช้กาบกล้วย  ข้างในใช้ไม้ทำโครง  ใส่สมุดดินสอโดยปักไว้ที่ตัวปราสาทจนถึงยอดปราสาทหลังจากนั้นนำไปถวายพระ  ชาวไทแสกมีความเชื่อว่า  เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ตาย  (ประสิทธิ์  ทักษิณ, 2548  : สัมภาษณ์) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น