วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

เทคนิคการสอน



วิธีสอนที่ครูเป็นศูนย์กลาง


ความหมาย

        คือ วิธีการที่ครูใช้ในการสอนผู้เรียนให้บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งจะมีขั้นตอนในการ ดำเนินการสอนให้สำเร็จด้วยวิธีการต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไปตามองค์ประกอบและขั้นตอนสำคัญ อันเป็นลักษณะเฉพาะหรือลักษณะเด่นที่ขาดไม่ได้ของวิธีนั้นๆ

          อาจจัดวิธีสอนนี้ว่าเป็นวิธีสอนที่ครูเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นการสอนที่ครูเป็นผู้บอก อธิบาย จัดกิจกรรมและสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยที่นักเรียนไม่ได้มีส่วนร่วมในการคิดหรือจัดกิจกรรม

วิธีสอนแบบบรรยาย (Lecture Method)

ความหมาย        

          วิธีสอนโดยใช้การบรรยายคือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการพูด บอก เล่า อธิบาย สิ่งที่ต้องการสอนแก่ผู้เรียน ให้ผู้เรียนซักถาม แล้วประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

วัตถุประสงค์     

            เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนจำนวนมากได้เรียนรู้เนื้อหาสาระหรือข้อความรู้จำนวนมากพร้อมๆ กันได้ในเวลาที่จำกัด

ขั้นตอนสำคัญของการสอน

           1. ผู้สอนเตรียมเนื้อหาสาระที่จะบรรยาย
              2. ผู้สอนบรรยาย (พูด บอก เล่า อธิบาย ) เนื้อหาสาระที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
              3. ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม และประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

วิธีสอนแบบอุปมาน (Induction Method)

ความหมาย     

                 คือ กระบวนการสอนที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้วัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการนำตัวอย่าง / ข้อมูล / ความคิด / เหตุการณ์ / สถานการณ์ / ปรากฏการณ์ที่มีหลักการ / แนวคิด ที่ต้องการสอนให้แก่ผู้เรียนศึกษาวิเคราะห์ จนสามารถดึงหลักการ / แนวคิดออกมา เพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ เป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนสรุปหลักการจากตัวอย่างต่างๆ ด้วยตนเอง

วัตถุประสงค์           

                 เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สามารถจับหลักการ หรือประเด็นสำคัญได้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้หลักการ / แนวคิด หรือข้อความรู้ต่างๆ อย่างเข้าใจ

ขั้นตอนสำคัญของการสอน               

               1. ผู้สอน และ / หรือ ผู้เรียน ยกตัวอย่าง / ข้อมูล / สถานการณ์ / เหตุการณ์ / ปรากฏการณ์ / ความคิดที่มีลักษณะสำคัญของสิ่งที่จะเรียนรู้
               2. ผู้เรียนศึกษาและวิเคราะห์หาหลักการที่แฝงอยู่ในตัวอย่างนั้น
               3. ผู้เรียนสรุปหลักการ / แนวคิด ที่ได้จากตัวอย่างนั้น        

วิธีสอนแบบอนุมาน (Deduction Method)

ความหมาย              

             คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดโดยการช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎี หลักการ กฎ หรือข้อสรุปในเรื่องที่เรียน แล้วจึงให้ตัวอย่างหลายๆ ตัวอย่างเกี่ยวกับหลักการใช้ทฤษฎี / หลักการ / กฎ หรือข้อสรุปนั้น หรืออาจให้ผู้เรียนฝึกนำทฤษฎี / หลักการ / กฎ หรือข้อสรุปนั้นไปในสถานการณ์ใหม่ๆ ที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในทฤษฎี / หลักการ / กฎหรือข้อสรุปนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง หรือกล่าวสั้นๆ ได้ว่าเป็นการสอนจากหลักการไปสู่ตัวอย่างย่อยๆ

วัตถุประสงค์                

            เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หลักการและสามารถนำหลักการดังกล่าวไปใช้ได้

ขั้นตอนสำคัญของการสอน                

          1. ผู้สอนถ่ายทอดความรู้ / ทฤษฎี / หลักการ / กฎ / ข้อสรุปที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ด้วยวิธีต่างๆ ตามความเหมาะสม
          2. ผู้สอนให้ตัวอย่างสถานการณ์ใหม่ที่หลากหลาย ที่สามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมาไปใช้
          3. ผู้สอนให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัตินำความรู้ ความเข้าใจที่เกิดขึ้นไปใช้ในสถานการณ์ใหม่
          4. ผู้สอนให้ผู้เรียนวิเคราะห์และอภิปรายการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
          5. ผู้สอนวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

วิธีสอนแบบสาธิต (Demonstraion Method)

ความหมาย              

             คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการแสดงหรือทำสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ให้เรียนรู้  สังเกต  แล้วให้ผู้เรียนซักถาม อภิปราย และสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการสังเกต  การสาธิต

วัตถุประสงค์                

              เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนทั้งชั้นได้เห็นการปฏิบัติจริงด้วยตาตนเอง ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องหรือการปฏิบัตินั้นชัดเจนขึ้น

ขั้นตอนสำคัญของการสอน            

          1. ผู้สอนแสดงการสาธิต ผู้เรียนสังเกตการสาธิต
          2. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายและสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการสาธิต      



การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

          การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ แนวการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยการใช้กระบวนการทางปัญญา ( กระบวนการคิด ) กระบวนการทางสังคม ( กระบวนการกลุ่ม ) และให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในการเรียน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ โดยครูมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ต้องจัดให้สอดคล้องกับความสนใจ ความสามารถและความถนัด เน้นการบูรณาการความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ ใช้หลากหลายวิธีสอน หลากหลายแหล่งความรู้ สามารถพัฒนาปัญญาอย่างหลากหลาย คือ พัฒนาพหุปัญญา รวมทั้งเน้นการใช้วิธีวัดผลอย่างหลากหลายวิธี



วิธีสอนแบบอภิปราย (Discussion Method)

ความหมาย

        คือ วิธีการสอนที่ผู้สอนให้ผู้เรียนมาประชุมกันเป็นกลุ่มหรือร่วมแสดงความคิดเห็น หรือระดมความคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือปัญหาใดปัญหาหนึ่งตามที่ผู้สอนกำหนด

ประเภทของการอภิปราย

          1. การอภิปรายในชั้นเรียน เป็นการอภิปรายกลุ่ม ( Group Discussion ) อาจจัดเป็น
               1.1 อภิปรายทั้งชั้น ( Whole Class Discussion )
               1.2 อภิปรายกลุ่มย่อย ( Small Group Discussion )

        อภิปรายทั้งชั้น ( Whole Class Discussion ) เป็นการสอนที่ผู้สอนเป็นผู้นำอภิปราย โดยเริ่มจากการใช้คำถามเร้าความสนใจให้ผู้เรียนร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และผู้สอนในฐานะผู้นำอภิปรายจะช่วยเชื่อมโยงความคิดต่างๆ จนได้ข้อสรุปในที่สุด

        อภิปรายกลุ่มย่อย ( Small Group Discussion ) เป็นกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดโดยการจัดผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 4-8 คน และให้ผู้เรียนในกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และประสบการณ์ในประเด็นที่กำหนดและสรุปผลการอภิปรายออกมาเป็นข้อสรุปของกลุ่ม           

          วัตถุประสงค์

              เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม การเรียนรู้ มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่เรียนกว้างขึ้น

           ขั้นตอนสำคัญของการสอน                                                                                                      

          1) ผู้สอนจัดผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มละประมาณ 4-8 คน
          2) ผู้สอน / ผู้เรียนกำหนดประเด็นในการอภิปราย
          3) ผู้เรียนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตามประเด็นอภิปราย
          4) ผู้เรียนสรุปสาระที่สมาชิกกลุ่มได้อภิปรายร่วมกันเป็นข้อสรุปของกลุ่ม
          5) ผู้สอนและผู้เรียนนำข้อสรุปของกลุ่มย่อยมาใช้ในการสรุปบทเรียน


         ความหมาย

               คือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติศึกษาค้นคว้า หาความรู้และทำการทดลองด้วยตนเอง เพื่อทำการพิสูจน์หลักการ ทฤษฎี หรือ ข้อเท็จจริงต่างๆ โดยกำหนดปัญหา ตั้งสมมติฐานในการทดลอง ลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด โดยใช้วัสดุอุปกรณ์จำเป็น เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล สรุปอภิปรายผลการทดลองและสรุปผลการเรียนรู้ที่ได้จากการทดลองภายใต้การแนะนำ ดูแล ให้คำปรึกษาและช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจาก ผู้สอน

         วัตถุประสงค์

               เป็นวิธีสอนที่ให้ผู้เรียนรายบุคคลหรือรายกลุ่มเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง โดยการสังเกตและทดลองด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับผู้เรียน ทำให้จดจำได้นาน เพื่อพัฒนาผู้เรียนเกี่ยวกับทักษะทางวิทยาศาสตร์และทักษะการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการทดลอง

          ขั้นตอนกาสำคัญของการสอน

              การจัดการเรียนรู้แบบทดลองมีขั้นตอนสำคัญ ดังต่อไปนี้

          1. ขั้นเตรียม

                      1.1 กำหนดจุดประสงค์
                            ผู้สอนต้องศึกษาหลักสูตร คู่มือครู หรือแผนการสอน แล้วตั้งจุดประสงค์การสอนให้ชัดเจนว่า ต้องการให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมแต่ละด้านอย่างไรบ้าง
                      1.2 วางแผนจัดการเรียนรู้
                      1.3 จัดเตรียมวัสดุและเครื่องมือ
                      1.4 ตรวจสอบความถูกต้องและประสิทธิภาพของเครื่องมือ
                      1.5 เตรียมผู้เรียน

          2. ขั้นทดลอง

                      2.1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
เป็นขั้นเร้าความสนใจ ผู้สอนควรได้แจ้งจุดประสงค์การทดลอง ขั้นตอนวิธีการทดลอง แนะนำการใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ให้ผู้เรียนได้ทราบบทบาทตน
                      2.2 ขั้นทดลอง
ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการทดลอง โดยผู้สอนเป็นผู้ดูแล ให้คำแนะนำช่วยเหลือให้การทดลองเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้

          3. ขั้นเสนอผลการทดลอง

                  ผู้เรียนนำเสนอผลการทดลองและรายละเอียดประกอบโครงการทดลอง การเตรียมการ วิธีการทดลอง และผลที่ได้จากการทดลอง

          4. ขั้นสรุปผลการทดลองและอภิปรายผล

                   ในขั้นนี้จะสรุปผลและอภิปรายผลของแต่ละกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ ตนเองได้รับระหว่างกลุ่มด้วย

          5. ขั้นประเมินผล

                   ขั้นนี้ผู้สอนและผู้เรียนควรร่วมกันประเมินผลผู้เรียนในด้านต่างๆ และแจ้งให้ผู้เรียนทราบเพื่อการปรับปรุงแก้ไขในการทดลอง
ที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป


ความหมาย

                            เป็นการสอนรูปแบบหนึ่งที่เชื่อว่า จะทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างสนุก เนื่องจากผู้เรียนสามารถเลือกศึกษา
ในหัวข้อที่ตนเองสนใจได้ นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาทักษะในการค้นคว้า การแก้ปัญหา ตลอดจนเสริมสร้างความรับผิดชอบ และความมีระเบียบวินัยในตนเองที่จะดำเนินงานตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพ

            ความหมายของโครงงาน

                โครงงานเป็นการทำกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ภายใต้การดูแลและให้คำปรึกษาของครูตั้งแต่การคิดสร้างโครงงาน  การวางแผนดำเนินการ  การออกแบบลงมือปฏิบัติรวมทั้งร่วมกำหนดแนวทางในการวัดผลและประเมินผล

                 โครงงานเป็นการศึกษาที่เน้นกิจกรรมโดยผู้เรียนลงมือปฏิบัติและศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองโดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์
ภายใต้คำ แนะนำปรึกษาและการดูแลของครูหรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถจัดแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะเฉพาะของเนื้อหาวิชานั้นๆ  ดังเช่นกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์สามารถแบ่งประเภทโครงงานวิทยาศาสตร์และจัดแบ่งออกเป็น 5 ประเภทดังนี้

              1. โครงงานประเภทสำรวจ ( Survey Research Project )

                        เป็นโครงงานที่ไม่ต้องมีการจัดหรือกำหนดตัวแปรแต่เป็นการรวบรวมข้อมูลในภาคสนามหรือในธรรมชาติได้ทันทีหรือ
ทำการเก็บรวบรวมวัสดุตัวอย่างมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ หรือจำลองธรรมชาติขึ้นในห้องปฏิบัติการแล้วสังเกตและศึกษารวบรวมข้อมูล
ต่างๆแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาจำแนกเป็นหมวดหมู่และนำเสนอในรูปแบบต่างๆเพื่อให้เห็นลักษณะหรือความสัมพันธ์ในเรื่องที่ต้องการศึกษา ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

                        ตัวอย่าง  เช่น

                      •  การสำรวจจำนวนต้นไม้ในโรงเรียน ชุมชน ป่าใกล้บ้าน ฯลฯ
                      •  การสำรวจความต้องการของนักเรียนในโรงเรียนเกี่ยวกับการใช้น้ำ

             2. โครงงานประเภทการทดลอง ( Experimental Research Project )

                         เป็นโครงงานที่ต้องทำการทดลองเพื่อต้องการที่จะศึกษาผลของตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อตัวแปรอีกตัวแปรหนึ่ง
โดยที่ในทางทฤษฎีแล้วอาจมีตัวแปรหลายๆ

                         ขั้นตอนในการทำงานของโครงงานประเภทนี้จะประกอบด้วยการกำหนดปัญหา การตั้งจุดประสงค์ในการศึกษา การตั้งสมมุติฐาน  การออกแบบการทดลอง  การดำเนินการทดลอง  การเก็บรวบรวมข้อมูล  การบันทึกผลการทดลอง  การแปลผลและ
การสรุปผลการทดลอง

                         ตัวอย่าง  เช่น

                         •  กลิ่นใบตะไคร้จะกำจัดแมลงสาบได้ดีกว่ากลิ่นใบมะกรูด
                         •  กระดองปูทะเลตากแห้งจะกำจัดมอดข้าวสารได้ดีกว่ากระดองปูทะเลสด
                         •  การปลูกมะม่วงด้วยการเพาะเมล็ดจะให้ผลมากกว่าการปลูกด้วยการทาบกิ่ง
                         •  เปลือกมะนาวสดจะกำจัดมดคันร้อนได้ดีกว่าเปลือกส้มสด ฯลฯ

            3. โครงงานประเภทการพัฒนาหรือการประดิษฐ์ ( Developmental Research Project )

                      เป็นโครงงานประเภทพัฒนาหรือประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ต่างๆที่นำมาใช้ประโยชน์ในการทำงาน
โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่คิดขึ้นมาใหม่ทั้งหมดหรือเป็นการดัดแปลงมาจากของที่มีอยู่
ู่แล้วก็ได้เพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ ดีกว่าเดิม หรือสร้างแบบจำลองเพื่ออธิบายแนวความคิดบางอย่างในการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง
                         
                         ตัวอย่าง  เช่น

                       •  การสร้างแบบจำลองบ้านที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์
                       •  แบบจำลองสถานการณ์ที่ใช้พลังงานไอน้ำ

           4. โครงงานประเภทการสร้างทฤษฎีหรือการอธิบาย ( Theoretical Research Project )

                     เป็นโครงงานที่นำเสนอแนวคิดหรือทฤษฎีใหม่ๆ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของสมการ สูตร หรือคำอธิบาย โดยตั้งข้อตกลงหรือกติกาขึ้นมาเองแล้วเสนอหลักการหรือแนวคิดหรือทฤษฎีตามกติกาหรือข้อตกลงนั้นๆหรือเป็นการขยายทฤษฎี ในรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีผู้ใดคิดมาก่อน
                          ตัวอย่างเช่น
                        •  การอธิบายเรื่องราวการดำรงชีวิตในอวกาศของมนุษย์
                        •  การกำเนิดของแผ่นดินไหวในประเทศไทย
                        •  ทฤษฎีของจำนวนและตัวเลข
                        •  ฯลฯ

            5. โครงงานทั่วไป

                    เป็นกิจกรรมที่หลายคนยอมรับว่าเป็นกิจกรรมที่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ด้วยตนเองจริงๆ
ซึ่งจะต้องเตรียมการทำโครงงาน เตรียมตัวนักเรียน เตรียมตัวครู เตรียมคิดกิจกรรมการเรียนการสอน


           ความหมาย

                คือ กระบวนการในการสอนให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากศูนย์การเรียนหรือมุมความรู้ ซึ่งผู้สอนได้จัดเตรียมเนื้อหาสาระและกิจกรรมที่ใช้สื่อการสอนหลายๆ อย่างประสมกันอาจไว้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง

          วัตถุประสงค์


               เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตนเอง

          องค์ประกอบสำคัญของวิธีสอน


             1. มีชุดการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาสาระ บัตรคำสั่งในการทำกิจกรรม วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และสื่อที่จำเป็นสำหรับทำกิจกรรม รวมทั้งแบบวัดและประเมินผลการเรียนรู้

            2. มีศูนย์การเรียน หรือมุมความรู้ หรือสถานที่สำหรับกลุ่มผู้เรียนในการศึกษาและทำ กิจกรรมต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในบัตรคำสั่ง

            3. ผู้เรียนศึกษาและทำกิจกรรมตามศูนย์ต่างๆ ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นรายบุคคล จนครบ ทุกศูนย์หรือครบทุกเนื้อหา

           4. ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่างๆ ในศูนย์

         ขั้นตอนสำคัญของการสอน


           1. ผู้สอนจัดเตรียมชุดการเรียนการสอนและจัดศูนย์การเรียน

           2. ผู้สอนให้คำชี้แจงและคำแนะนำแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้โดยใช้ศูนย์การเรียน

           3. ผู้เรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน

          4. ผู้เรียนศึกษาและทำกิจกรรมตามบัตรคำสั่งในศูนย์ต่างๆ ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นรายบุคคล จนครบทุกศูนย์หรือครบทุกเนื้อหา

          5. ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน


ความหมาย

             คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการให้ผู้เรียนสวมบทบาทในสถานการณ์ซึ่งมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง และแสดงออกตามความรู้สึกนึกคิดของตน และนำเอาการแสดงออกของผู้แสดง ทั้งทางด้านความรู้ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่สังเกตพบ มาเป็นข้อมูลในการอภิปราย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์

             เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เกิดความเข้าใจในความรู้สึกและพฤติกรรมทั้งของตนเองและผู้อื่น หรือเกิดความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับบทบาทสมมุติที่ตนแสดง

องค์ประกอบสำคัญของวิธีสอน


           1. สถานการณ์สมมุติและบทบาทสมมุติ

           2. มีการแสดงบทบาทสมมุติ

           3. มีการอภิปรายเกี่ยวกับความรู้ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้แสดง และสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ

ขั้นตอนสำคัญของวิธีสอน


           1. ผู้สอน / ผู้เรียน นำเสนอสถานการณ์สมมุติและบทบาทสมมุติ

           2. ผู้สอน / ผู้เรียนเลือกผู้แสดงบทบาท

           3. ผู้สอนเตรียมผู้สังเกตการณ์

           4. ผู้เรียนแสดงบทบาทและสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออก

           5. ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับความรู้ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้แสดง

           6. ผู้สอนและผู้เรียนสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับจากการแสดงและการชมการแสดง



ความหมาย

                คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยให้ผู้เรียนลงไปเล่นในสถานการณ์ที่มีบทบาท และกติกาการเล่นที่สะท้อนความเป็นจริง และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในสถานการณ์นั้น โดยใช้ข้อมูลที่มีสภาพคล้ายกับข้อมูลในความเป็นจริง ในการตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งการตัดสินใจนั้นจะส่งผลถึงผู้เล่นในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง

วัตถุประสงค์


                  เป็นวิธีการที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สภาพความเป็น จริง เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ หรือเรื่องที่มีตัวแปรจำนวนมากที่มีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน

องค์ประกอบสำคัญของวิธีสอน


                1. มีสถานการณ์ ข้อมูล บทบาทและกติกา ที่สะท้อนความเป็นจริง

                2. ผู้เล่นในสถานการณ์มีปฏิสัมพันธ์กันหรือมีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆ ในสถานการณ์นั้น

                3. ผู้เล่นหรือผู้สวมบทบาทมีการใช้ข้อมูลที่ให้ในการตัดสินใจ

                4. การตัดสินใจส่งผลต่อผู้เล่นในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง

                5. มีการอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ ข้อมูล และกติกาของสถานการณ์ วิธีการเล่น พฤติกรรมการเล่น และผลการเล่น เพื่อการเรียนรู้

ขั้นตอนสำคัญของวิธีสอน


                1. ผู้สอนเตรียมสถานการณ์จำลอง

                2. ผู้สอนนำเสนอสถานการณ์จำลอง บทบาท ข้อมูล และกติกาการเล่น

                3. ผู้เรียนเลือกบทบาทที่จะเล่น หรือผู้สอนกำหนดบทบาทให้ผู้เรียน

                4. ผู้เรียนเล่นตามกติกาที่กำหนด

                5. ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ ข้อมูล และกติกาของสถานการณ์ วิธีการเล่น  พฤติกรรมการเล่น และผลการเล่น

                6. ผู้สอนและผู้เรียนสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับจากการเล่น



การเรียนแบบกลุ่ม (Group Learning)

        คือ บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ร่วมกัน กลุ่มมีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1) หัวหน้า 2) สมาชิก 3) กระบวนการกลุ่ม องค์ประกอบทั้ง 3 ข้างต้นจะทำงานไปด้วยดี

การเรียนแบบร่วมมือ ( Co - operative Learning )
    
        คือ การร่วมมือกันทำงานเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ซึ่งทุกคนยอมรับจุดมุ่งหมายร่วมกัน และเมื่อพัฒนาสำเร็จแล้วส่งผลให้ผู้ร่วมงานเกิดความพอใจ

เทคนิคของการเรียนแบบร่วมมือที่พัฒนาโดยเคแกน มีดังนี้

        1. การพูดเป็นคู่ ( rally robin ) เป็นเทคนิคเปิดโอกาสให้นักเรียนพูด ตอบ  แสดงความคิดเห็นเป็นคู่ๆ โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกที่เป็นคู่ได้พูดกัน

         2. การเขียนเป็นคู่ ( rally table ) เป็นเทคนิคคล้ายกับการพูดเป็นคู่ทุกประการ ต่างกันเพียงการเขียนเป็นคู่ เป็นการร่วมมือเป็นคู่ๆ โดยผลัดกันเขียนหรือวาด ( ใช้อุปกรณ์ : กระดาษ 2 แผ่น และปากกา 2 ด้าม ต่อกลุ่ม )

        3. การพูดรอบวง ( round robin ) เป็นเทคนิคที่สมาชิกของกลุ่มผลัดกันพูด ตอบ เล่า อธิบาย โดยไม่ใช้การเขียน การวาด และเป็นการพูดที่ผลัดกันทีละคนตลอดเวลาที่กำหนด จนครบ 4 คน

        4. การเขียนรอบวง ( round table ) เป็นเทคนิคที่เหมือนกับการพูดรอบวงแตกต่างกันที่เน้นการเขียน การวาด วิธีการคือ ผลัดกันเขียนลงในกระดาษที่เตรียมไว้ทีละคนตามเวลาที่กำหนด

        5. การแก้ปัญหาด้วยการต่อภาพ ( jigsaw problem solving ) เป็นเทคนิคที่สมาชิกของแต่ละคนคิดคำตอบของตนเองไว้ จากนั้นกลุ่มนำคำตอบของทุกๆ คนมาร่วมกันอภิปราย เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุด

        6. คิดเดี่ยว - คิดคู่ - ร่วมกันคิด ( think - pair - share ) เป็นเทคนิคโดยเริ่มจากปัญหาหรือโจทย์คำถาม โดยสมาชิกแต่ละคนคิดหาคำตอบด้วยตนเองก่อน แล้วนำคำตอบไปอภิปรายกับเพื่อนเป็นคู่

         7. อภิปรายเป็นคู่ ( pair discussion ) เป็นเทคนิคที่เมื่อครูถามคำถาม หรือกำหนดโจทย์แล้วให้สมาชิกที่นั่งใกล้ร่วมกันคิดและอภิปรายเป็นคู่

         8. อภิปรายเป็นทีม ( team discussion ) เป็นเทคนิค ที่เมื่อครูตั้งคำถาม แล้วให้สมาชิกของกลุ่มทุกๆ คนร่วมกันคิด พูด อภิปรายพร้อมกัน

         9. ทำเป็นกลุ่ม - ทำเป็นคู่ - และทำคนเดียว ( team - pair - solo ) เป็นเทคนิคที่เมื่อครูกำหนดปัญหาหรือโจทย์ หรืองานให้ทำแล้ว สมาชิกจะทำงานร่วมกันทั้งกลุ่มจนทำงานได้สำเร็จแล้วจากนั้นจะแบ่งสมาชิกเป็นคู่ให้ทำงานร่วมกันเป็นคู่จนงานสำเร็จ แล้วถึงขั้นสุดท้ายให้สมาชิกแต่ละคนทำงานเดี่ยวจนสำเร็จ

         10. การเรียงแถว ( line - ups ) เป็นเทคนิคที่ง่ายๆ โดยให้นักเรียนยืนเป็นแถวเรียงลำดับภาพ คำ หรือสิ่งที่ครูกำหนดให้ เช่น ครูให้ภาพต่างๆ แก่นักเรียน แล้วให้นักเรียนยืนเรียงลำดับภาพขั้นตอนของวงจรชีวิตของแมลง ห่วงโซ่อาหาร

         11. การพูดเป็นคู่ตามเวลากำหนด ( time-pair-share ) เป็นเทคนิคการเรียนแบบร่วมมือที่สมาชิกจับคู่กัน สมาชิกคนที่ 1 พูดในเวลาที่กำหนดเพื่อตอบโจทย์หรือปัญหาที่กำหนดสมาชิกคนที่ 2 ฟัง จากนั้นสมาชิกคนที่ 2 พูด คนที่ 1 ฟัง การพูดใช้เวลาเท่ากับครั้งแรก

         12. การทำโครงงานเป็นกลุ่ม ( team project ) เป็นเทคนิคการเรียนด้วยวิธีโครงงานโดยครูอาจจะกำหนดวิธีการทำโครงงาน ระบุบทบาทของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม ให้ร่วมกันทำโครงงานตามมอบหมาย หรืออาจใช้วิธีให้ผู้เรียนร่วมกันคิดทำโครงงานเอง โดยนักเรียนแบ่งหน้าที่ให้สมาชิกทุกคนมีบทบาทในการทำงาน

         13. การหาข้อยุติ ( showdown ) เป็นเทคนิคที่ใช้ทบทวนความรู้ วัดความรู้ ซึ่งอาจใช้ได้ในทุกขั้นตอนของการสอนโดย

               1) สมาชิกแต่ละคนของกลุ่มเขียนคำถามตามที่ผู้สอนกำหนดลงในกระดาษของตน จะได้โจทย์คำถามตามจำนวนสมาชิกของกลุ่ม                2) ให้สมาชิกนำโจทย์คำถามพร้อมปากกาวางตรงกลางโต๊ะ
               3) กำหนดสมาชิกหัวหน้า เริ่มที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งก่อนก็ได้ ให้สุ่มหยิบโจทย์คำถาม
               4) สมาชิกทุกคนหยิบปากกา แล้วเขียนคำตอบเพื่อตอบโจทย์คำถามในกระดาษของตนเอง
               5) จากนั้นตรวจคำตอบร่วมกัน ถ้าตอบถูกต้อง ทุกคนก็ได้แสดงความชื่นชมกัน ถ้าตอบ ไม่ถูกต้อง                    ให้เปิดหนังสือค้นคว้าหรือถามผู้สอนก็ได้ แล้วแก้ไขให้ถูกต้องทุกคน
               6) จากนั้นหมุนเวียนสมาชิกคนต่อไปเป็นหัวหน้า แล้วจึงดำเนินกิจกรรมตามข้อ 3 ถึง 5 ให้ทำเช่นนี้จนสมาชิกทุกคนตอบโจทย์คำถามทุกข้อได้ครบ

           14. คิดเดี่ยว - คิดคู่ - คิดเป็นกลุ่ม ( think-pair-square ) เป็นเทคนิคโดยเริ่มจากปัญหาหรือโจทย์คำถามโดยสมาชิกแต่ละคนคิดคำตอบด้วยตนเองก่อน แล้วนำคำตอบของตนไปอภิปรายกับเพื่อนเป็นคู่ จากนั้นก็อภิปรายกับสมาชิกในกลุ่มของตนก่อนแล้วอาจนำคำตอบเล่าให้เพื่อนๆ ทั้งชั้นฟัง

            15. การพูดวงกลมซ้อน ( inside-outside circle ) เป็นเทคนิคที่ผู้เรียนอาจนั่งหรือยืนเป็น วงกลมซ้อนกัน 2 วง แต่ละวงมีจำนวนกลุ่มเท่ากัน วงในหันหน้าออก วงนอกหันหน้าเข้า หรืออาจนั่งหรือยืนเป็นคู่ก็ได้ ผู้เรียนที่เป็นคู่หรือกลุ่มที่เป็นคู่กันจะพูดหรืออภิปราย หรือนำเสนอผลงานกลุ่มแก่กันและกัน โดยผลัดกันพูด อาจมีการกำหนดเวลาด้วย จากนั้นจะหมุนเวียนเปลี่ยนคู่หรือกลุ่มใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่ซ้ำกัน โดยผู้เรียนวงนอกและวงในเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อให้พบสมาชิกไม่ซ้ำกลุ่มเดิม

            16. การให้ข้อมูลย้อนกลับแบบหมุนเวียน ( rotating feedback ) เป็นเทคนิคที่สมาชิกทุกคนในแต่ละกลุ่มให้ข้อมูลย้อนกลับ ซึ่งอาจเป็นข้อคิด ข้อเสนอแนะ ข้อดี ข้อบกพร่อง ต่อผลงานของกลุ่มอื่นๆ โดยหมุนเวียนไปทีละกลุ่มจนครบอย่างเป็นระบบหรืออาจมีกำหนดเวลาให้แต่ละกลุ่มด้วยก็ได้

ประโยชน์ของการเรียนแบบร่วมมือ

            1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิก เพราะทุกๆ คนร่วมมือในการทำงานกลุ่ม ทุกๆ คนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกัน

            2. สมาชิกทุกคนมีโอกาสพูด แสดงออก แสดงความคิดเห็น ลงมือกระทำอย่างเท่าเทียมกัน

            3. เสริมให้มีความช่วยเหลือกัน เช่น เด็กเก่งช่วยเด็กที่เรียนไม่เก่ง ทำให้เด็กเก่งภาคภูมิใจรู้จักสละเวลา ส่วนเด็กที่ไม่เก่งเกิดความซาบซึ้งในน้ำใจของเพื่อนสมาชิกด้วยกัน

            4. ร่วมกันคิดทุกคน ทำให้เกิดการระดมความคิด นำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาร่วมกัน เพื่อประเมินคำตอบที่เหมาะที่สุด เป็นการส่งเสริมให้ช่วยกันคิดหาข้อมูลให้มากและวิเคราะห์ และตัดสินใจเลือก

            5. ส่งเสริมทักษะทางสังคม เช่น การอยู่ร่วมกันด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เข้าใจกันและกัน อีกทั้งเสริมทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ให้สูงขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น